ปัญหาการเปลี่ยนเปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระโลก ที่ประเทศไทยโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศแผนที่ทางเดินว่า ไทยจะร่วมก้าวเดินสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปกับโลก โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 (พ.ศ.2608)
เป้าหมายดูเหมือนยังไกลและมีเวลาอีกมาก แต่ในภาคปฏิบัติต้องลงมือทันที เนื่องจากได้มีการกำหนดแผนปฎิบัติการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งรวมถึงคาร์บอน ลงเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ
ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนสุดคือ ข้อกำหนด CBAM -Carbon Border Adjustment Measure ของสหภาพยุโรป ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 นี้แล้ว โดยจะเรียกเก็บภาษีสินค้าที่จะส่งเข้าไปขายในสหภาพยุโรป หากกระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศเกินเกณฑ์กำหนด เริ่มนำร่อง 5 อุตสาหกรรม คือ เหล็ก อะลูมิเนียม ปูนซิเมนต์ ไฟฟ้า การขนส่ง เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับผู้ประกอบการภายใน ที่ถูกกำกับให้ต้องลงทุนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนลง
ทั้งนี้ มีสัญญาณว่าหลายประเทศอาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน จะใช้มาตรการลักษณะเดียวกันตามมาเเป็นลำดับ และในอนาคตจะขยายรายการสินค้าเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จนอาจครอบคลุมการผลิตทั้งหมด ที่ต้องลดการปล่อยคาร์บอน
เวทีสัมมนา “Carbon War วิกฤต-โอกาสไทยบนเวทีโลก” ของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ทุกภาคส่วนเห็นร่วมกันว่า วาระโลกสู่การลดละเลิกคาร์บอนนี้เป็นเงื่อนไขที่ทุกฝ่าย “ไม่ปรับไม่ได้” ใครไม่ปรับก็จะไม่สามารถอยู่ในสนามแข่งขันต่อไปได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่ภาคส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของจีดีพี
ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เตรียมรับเกณฑ์ใหม่ที่เกิดขึ้นตามบทบาทหน้าที่ กรมสรรพสามิตปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ เปลี่ยนจากฐานกำลังเครื่องยนต์สู่อัตราการปล่อยคาร์บอน ปรับภาษีน้ำมันให้ดีเซลเข้าใกล้เบนซินเนื่องจากสร้างมลพิษมากกว่า อุดหนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดทางเอกชนปลูกป่าชายเลนเพื่อนำไปเป็นคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) พัฒนาเกณฑ์วัดค่าการปล่อยคาร์บอนในมาตรฐานสากล สร้างตลาดคาร์บอนเป็นกลไกช่วยการปรับตัวของภาคเอกชน เป็นต้น
อ่านต่อได้ที่: https://www.thansettakij.com/columnist/524789